ประวัติอาจารย์พร รัตนสุวรรณ
ผู้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาพระพุทธศาสนาแคมป์สน
เว็บไซต์ศูนย์
ผู้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาพระพุทธศาสนาแคมป์สน
เว็บไซต์ศูนย์
ประวัติอาจารย์พร รัตนสุวรรณ ผู้ก่อตั้งศูนย์ฯ
พร รัตนสุวรรณ
อาจารย์พร รัตนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นบุตรนายบุนนาค และนางพิณ รัตนสุวรรณ เกิดในตระกูลช่างทอง ณ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ของนายบุนนาคและนางพิณ
เนื่องจากบิดาและมารดาของท่านเสียชีวิตไปตั้งแต่ท่านยังเล็ก ๆ และเป็นเด็กกำพร้า จึงได้ไปอาศัยอยู่กับลุงและอา ในที่สุดก็ไปอาศัยอยู่กับวัดบ้านแก่ง
อายุย่างเข้า ๑๓ ปี พ.ศ.๒๔๗๔ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับสามเณรอาทร อังสุธรรม ซึ่งเป็นญาติผู้พี่และเป็นคนบ้านเดียวกัน ได้พามาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ พระนคร กรุงเทพฯ เมื่อมาอยู่แล้วก็ได้เข้าเรียนภาษาบาลี โดยเรียนไวยากรณ์ และแปลธรรมบท อยู่ ๒ ปี ตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัดมหาธาตุ ฯ
ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ อายุครบ ๑๗ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพ
ในปีพ.ศ. ๒๔๘๑ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ ฯ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีนามฉายาว่า กลฺยาณจาโรภิกฺขุ พระธรรมปัญญาบดี (กิตฺตสารมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณสมโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ฐานทัตตมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสมโพธิ์ เป็นพระอนุสาวจารย์
อาจารย์พร ได้เข้าศึกษาภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุ ฯ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยใช้เวลาศึกษาภาษาบาลีและแปลภาษาบาลีอยู่ถึง ๖ ปี โดยศึกษาภาษาบาลีไวยากรณ์ ๒ ปี ศึกษาแปลธรรมบทอีก ๔ ปี ผลการสอบไล่ได้ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๘๑ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เมื่ออายุ ๑๘ ปี และสอบได้เปรียญธรรม ๔-๕-๖ ประโยคได้ตามลำดับขณะยังเป็นสามเณร
เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ หลังจากได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว และก็ได้เป็นครูสอนบาลีในสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ฯ อยู่ ๒ ปีแต่ด้วยความตั้งใจของอาจารย์นั้น ท่านประสงค์จะหาเวลาศึกษาค้นคว้า และอ่านหนังสือพระไตรปิฎก ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาในด้านปฏิบัติและวิปัสสนา จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ไปปฏิบัติธรรม ที่สำนักวัดถ้ำแกลบ จังหวัดเพชรบุรี และต่อมาก็ได้ย้ายไปปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ ณ สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นบุกไทย ท่านอาจารย์จึงกราบลาท่านพุทธทาสภิกขุ กลับมาวัดมหาธาตุ ฯ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้น ทางกรุงเทพ ฯ เองก็ถูกโจมตีจากทหารญี่ปุ่น เหตุการณ์ยังไม่สงบ ท่านอาจารย์จึงย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของท่าน ที่บ้านแก่ง จังหวัดอุตรดิตถ์ ณ วัดเกษมจิตตาราม และจำพรรษาอยู่ ๒ ปี
เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๐ ได้เดินทางไปแสวงหาความรู้ และปฏิบัติธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ และก็ได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดอุปคุต ๑ พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ย้ายไปอยู่วัดศรีโขง ณ ตรงนี้เองท่านอาจารย์พร ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า พระไตรปิฎก-อรรถกถาได้อย่างเต็มที่เป็นเวลาถึง ๔ ปีเต็ม โดยไม่ได้รับกิจนิมนต์ใด ๆ จากญาติโยม (ตามท่านเล่า)
เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐ ได้เริ่มออกเทศน์สั่งสอนอบรมธรรมะแก่นักเรียน เยาวชนและประชาชนโดยทั่วไป ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และเปิดสอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เชียงใหม่ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ นี้ด้วย ต่อมาเจ้าชื่น เจ้าสุริยฉาย สิโรรส ได้พาลูก ๆ มาเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และมีศรัทธาเลื่อมใสในการสอนธรรมบรรยาย จึงได้นิมนต์ให้ท่านไปอยู่ที่วัดอุโมงค์ ซึ่งกำลังบูรณะ ท่านอาจารย์จึงได้ไปอยู่วัดอุโมงค์ และได้ตั้งพุทธนิคมเชียงใหม่ สวนพุทธธรรม และยุวพุทธิกสมาคมขึ้นเป็นแห่งแรกอีกด้วย
ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่ออายุย่างเข้า ๓๐ ปี ท่านอาจารย์พรกับท่านปัญญานันทะภิกขุ (ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมโกษาจารย์) ได้ร่วมกันเทศน์สั่งสอนอบรมนักเรียน เยาวชน และประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ จนมีผู้คนศรัทธาเลื่อมใส และนิยมมาฟังการบรรยายธรรมะกันมากมาย ซึ่งมีผู้ให้ความคิดเห็นว่า การเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบนี้มีประโยชน์ต่อการสอนพระพุทธศาสนามาก จึงได้ร่วมกันสร้างสถานที่ถาวร คือก่อสร้างพุทธสถานเชียงใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่ออายุ ๓๔ ปี ท่านอาจารย์พร ได้ป่วยเป็นวัณโรค จึงได้ลาสิกขา ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๙๔ และได้ออกไปพักรักษาตัวและถือโอกาสนี้ปฏิบัติธรรมด้วย ณ บนภูเขาห้วยฝ้าย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ โรคประจำตัวของท่านอาจารย์ก็หายเป็นปกติ ท่านจึงเริ่มออกสอนพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง โดยออกไปสอนตามโรงเรียนในเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนสตรี โรงเรียนชาย วิทยาลัยฝึกหัดครูและวิทยาลัยพยาบาล เป็นต้น ท่านอาจารย์พร ได้ทำงานด้านเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้แก่นักเรียนเยาวชน โดยการสอนให้ฟรีทุกอย่าง รวมเวลาที่ได้มาศึกษาพระไตรปิฎก-อรรถกถา การปฏิบัติธรรมและการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลานานถึง ๑๑ ปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักเรียนนักศึกษา เยาวชนและประชาชนโดยทั่วไป ในเมืองเชียงใหม่
ในปีพ.ศ. ๒๔๙๘ ทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในสมัยท่านเจ้าคุณพระธรรมวรนายก เป็นอธิการบดี และพระศรีสุธรรมมุนี (บุญเลิศ) เป็นสั่งการเลขาธิการ ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระสุเมธาธิบดี ได้มีหนังสือเชิญตัวมาเป็นอาจารย์บรรยายในคณะพุทธศาสตร์ ท่านอาจารย์จึงตอบรับ และตัดสินใจมาสอนที่มหาวิทยาลัยทันที เพราะมองเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ถวายความรู้แก่พระนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และท่านอาจารย์เองก็เป็นผู้ริเริ่มการสอน วิชาธรรมประยุกต์ คือหลักคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้พระนิสิตของมหาวิทยาลัยได้นำหลักธรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน และนำไปเผยแพร่ต่อไป
ในช่วงที่เป็นอาจารย์สอนในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ประมาณ ๖ เดือน ท่านก็ยังได้ออกไปสอนวิชาพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๑๐ โรงเรียน เพื่อเป็นการเผยแพร่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้แก่นักเรียนและเยาวชนได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมและสามารถนำหลักธรรมนั้นไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านอาจารย์ก็ได้เปิดสอนธรรมะพิเศษให้แก่เด็กนักเรียนขึ้นในวันเสาร์และวันอาทิตย์อีกด้วย และท่านอาจารย์ก็ได้เปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในนามของมหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในกรุงเทพฯ อีกด้วย ซึ่งได้ทำการบรรยายและสอนอยู่ที่โรงเรียนพรวิทยาประสูทน์ ซึ่งมีนักเรียนและมีผู้สนใจนิยมมาเรียนและมาฟังกันเป็นจำนวนมาก จนล้นห้องเรียนไปยืนฟังข้างนอกก็มาก ช่วงนี้เอง คุณปุ่น จงประเสริฐ ก็ได้มาฟังธรรมะบรรยายของท่านอาจารย์พรด้วย และได้เกิดศรัทธาซื้อม้าหินอ่อนและก็นำลำโพงต่ออกไปข้างนอก ให้ผู้อยู่ข้างนอกได้ฟังธรรมะด้วย จนข้างนอกเอง ก็เกิดมีพ่อค้าแม่ค้านำของมาขายบริเวณลานอโศก จึงได้เกิดเป็นตลาดนัดขึ้นโดยปริยาย พร้อมกันนี้ก็ยังได้ตั้งธรรมวิจัย และปรับปรุงธรรมวิจัยขึ้นในวัดมหาธาตุ ฯ สำหรับการบรรยายธรรมะและการปฏิบัติวิปัสสนาให้แก่นักเรียนเยาวชนและประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย
อนึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ท่านอาจารย์พร ก็ได้ไปบรรยายธรรมะทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งบรรยายธรรมในเรื่องสุขภาพจิต ทางทีวี ขาว-ดำ ช่อง ๗ กองทัพบกติดต่อกันเป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี จนเป็นที่มีผู้นิยมกันแพร่หลายและมีผู้คนติดตามชมกันโดยทั่วไป
ปีพ.ศ. ๒๔๙๖ เขียนหนังสือพุทธวิทยาเล่ม ๑-๒ ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ที่ท่านอาจารย์พรเขียนขึ้นเผยแพร่
ปีพ.ศ. ๒๕๐๘ ตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเป็นโรงพิมพ์วิญญาณ เขตพระนคร บางลำพู กรุงเทพ ฯ
เมื่อตั้งสำนักพิมพ์แล้ว ก็ได้ทำการวิจัยธรรม วิจัยการสอนวิชาศีลธรรมและค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณ โดยเฉพาะ วิชาธรรมประยุกต์ ท่านได้คิดมานานในเรื่องหลักธรรมที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต ซึ่งในที่สุดก็พบว่า “ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้แหละ คือธรรมประยุกต์ ที่สามารถใช้เป็นวัคซีนได้แน่นอน ถ้าได้ฉีดความรู้เรื่องนี้เข้าไปในจิตใจ ซึ่งเริ่มจากสิ่งที่ง่าย ๆ ก่อนแล้วจึงค่อยเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปดดยลำดับ จนกระมั่งมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดีแล้ว มีพื้นความรู้สึกสูงขึ้น ความรู้สึกอันนี้จะคอยเตือน คอยฉุดในเมื่อจะเดินผิดทางและก็คอยชี้ช่องทาง” ผลงานก้านการเขียนของท่านอาจารย์พรมีมาก อาทิ สัพพัญญู, อภิญญา, คู่มือการฝึกอานาปานสติสมาธิ, คำบรรยายพุทธปรัชญา, วิญญาณ, ชีวิตหลังจากตาย, สุขภาพจิต, วิญญาณคืออะไร เป็นต้น หนังสือที่ท่านเขียนขึ้นจะเป็นหนังสือหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การฝึกสมาธิ วิญญาณ หรรษา พาชื่น วิธีชนะอารมณ์ และบทความอื่น ๆ อีกมากมายกว่า ๘๐ เรื่อง
ปีพ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๓๕ ได้เป็นผู้บุกเบิกและก่อสร้างศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สนขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าวิจัย ฝึกอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐาน แก่พระนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนโดยทั่วไป และได้มอบศูนย์นี้ให้เป็นสมบัติของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าไปดูแลและทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย จึงนับได้ว่า เป็นงานที่สำคัญมาก ที่ท่านอาจารย์ได้มาบุกเบิกไว้ให้เป็นสมบัติของพระศาสนาและสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สนแห่งนี้
ปีพ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๖ ตลอดชีวิตของท่านอาจารย์พรนั้น ท่านได้เป็นผู้เสียสละเกือบทั้งชีวิตของท่าน ซึ่งผลงานนั้นมีมากมาย เช่นการสอน การบรรยาย การฝึกอบรม นำผู้ปฏิบัติธรรมและสร้างถาวรวัตถุให้กับพระพุทธศาสนา และสิ่งที่สำคัญยิ่งคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านอาจารย์พรได้เป็นผู้ดำเนินการตรวจชำระและจัดพิมพ์คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คือ หนังสืออรรถกถา-ฎีกา ซึ่งเป็นหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก ที่เป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป และหนังสือคัมภีร์เหล่านี้ ท่านได้มอบให้กับสถาบันมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อไว้เป็นอุปกรณ์การศึกษาค้นคว้าอีกด้วย และในช่วงการดำเนินการตรวจชำระและจัดพิมพ์ได้เสร็จไปแล้ว ๔๗ คัมภีร์ และได้ทำพิธีมอบคัมภีร์อรรถกถาถวายมหาจุฬา ฯ ขึ้น ณ ภายในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ฯ พร้อมกับท่านอายุครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๓
ดังนั้น ชีวิตของท่านอาจารย์พร รัตนสุวรรณ นั้นถือได้ว่าเป็นผู้เกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ ให้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความปรารถนาดี และท่านอาจารย์พรพูดอยู่เสมอว่า ถ้าไม่มีการให้ ก็ไม่มีทางพ้นจากความทุกข์ได้เลย เพราะชีวิตทั้งชีวิตของท่านอาจารย์ ท่านเล่าว่าท่านเป็นผู้ให้ตลอด ซึ่งท่านได้นำหลักทางพรุพุทธศาสนา และสอนธรรมะนี้แก่ปวงชน ผลบุญกุศลนี้จึงหนุนนำส่งให้ท่านมีความสุข และทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมได้อย่างราบรื่นตลอดชีวิต ซึ่งท่านเคยพูดว่า ชีวิตของท่านบางครั้งเริ่มจากศูนย์ แต่เมื่อเป็นผู้ให้และเป็นผู้เสียสละแล้ว ผลที่ให้นั้นก็สะท้อนย้อนกลับ จึงทำให้ท่านอาจารย์พรเป็นคนได้รับความรักความเมตตา ความเอื้ออาทรจากผู้อื่นมากมาย ชีวิตของท่านอาจารย์พร จึงมีแต่ความสุขความสวัสดีในชาติปัจจุบันนี้
อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ท่านได้ปลงภาระธุระและเป็นการยุติชีวิตของการเวียนว่ายในโลกสังสารวัฏนี้เสียที จึงได้ละกายเนื้อเข้าสู่ภูมิทิพย์ด้วยโรคตับวาย เมื่อวันพุธที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ เวลา ๐๖.๓๙ น. สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๖ วัน การสิ้นบุญของท่านครั้งนี้ นับได้ว่า นำความสลดใจมายังศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นผู้ที่เคารพนับถือและเป็นที่รักของทุก ๆ คนที่เป็นศิษย์ ท่านจากไปด้วยความอาลัยรักจากศิษยานุศิษย์จนชั่วนิรันดร
ประวัติชีวิตและผลงานโดยสังเขป โดย สมหมาย ดูยอดรัมย์
พม., พธ.บ.,M.A. Sociology
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
คัดลอกจากบางส่วนของบทความจาก
วารสารวิญญาณ ชุดที่ ๓๗ ฉบับที่ ๗-๑๐ กรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๔๔
ของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ
๔๗/๒ ถนนสามเสน บางลำพู กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
พม., พธ.บ.,M.A. Sociology
อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
คัดลอกจากบางส่วนของบทความจาก
วารสารวิญญาณ ชุดที่ ๓๗ ฉบับที่ ๗-๑๐ กรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๔๔
ของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ
๔๗/๒ ถนนสามเสน บางลำพู กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
No comments:
Post a Comment